เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 เวลา 10.30 น. ที่ชุมชนหัตถกรรมบาราโหมบาติก บ้านปาเระ หมู่ที่ 1 ตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี พันเอก พรชัย นิ่มทัศนศิริ รองเสนาธิการหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี เป็นผู้แทน ร่วมกิจกรรมส่งเสริมชุมชนเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ประจำปี 2565 โดยความร่วมมือระหว่าง สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ (สศท.) กับหน่วยงานเครือข่ายในการส่งเสริมให้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมในพื้นที่เชื่อมโยงวิถีชุมชนกับการท่องเที่ยว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลชุมชน และแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาร่วมกัน และอนุรักษ์ สืบสานองค์ความรู้ภูมิปัญญา นำมาพัฒนาตามศักยภาพของชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง โดยมี นายภาวี โพธ์ยี่ รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เป็นประธาน
กิจกรรมในครั้งนี้ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ (สศท.) ได้คัดเลือกชุมชนหัตถกรรมบาราโหมบาติก แหล่งท่องเที่ยวชุมชน OTOP ของจังหวัดปัตตานี ซึ่งชุมชนบาราโหมแบ่งเป็น 3 หมู่บ้านมีประชากรกว่า 3,000 คน และปัจจุบันเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกพื้นที่ มีผลิตภัณฑ์จากบาติกพิมพ์ลาย (ยี่ห้อ BarahomBarzaar) ด้วยลวดลายความแปลกใหม่ไม่ซ้ำใครจากการแกะลวดลายจาก ‘มาโก๊ะจาแว’ ซึ่งในภาษามลายูหมายถึงถ้วยชาม แหล่งท่องเที่ยวชุมชน OTOP แห่งนี้ เกิดขึ้นโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนผ่านสภาประชาธิปไตยตำบล (สภาสันติสุขตำบล) เพื่อฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนเชิงประวัติศาสตร์ ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถีบาราโหม จนทำให้คนในชุมชนเกิดความกระตือรือร้น ร่วมแรงร่วมใจ แข็งขันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อันเป็นภูมิปัญญานำไปสู่ความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ผ่านเรื่องราวเสน่ห์ความงดงามของวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในชุมชน โบราณสถานที่เก่าแก่กว่า 500 ปี ซึ่งเป็นต้นทุนของชุมชนที่มีอยู่แต่เดิมให้กลายเป็นจุดแข็งและดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสู่ชุมชน เน้นประชาชนมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำ การอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรม สร้างรายได้สู่ชุมชน ส่งผลทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งต่อไป
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ (สศท.) เป็นสถาบันที่ดำเนินการส่งเสริมงานหัตถกรรมในระดับชุมชน ซึ่งจะคัดเลือกชุมชนที่มีภูมิปัญญาความรู้ในงานศิลปหัตถกรรม และยกระดับการดำเนินงานโดยคัดเลือกชุมชนที่มีครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมถึงสมาชิกสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. และพื้นที่ข้างเคียงที่มีศักยภาพให้เป็นชุมชนเรียนรู้หัตถกรรม เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมและอัตลักษณ์ชุมชน ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชนมีโอกาสสร้างรายได้ผ่านการท่องเที่ยวในวิถีชุมชนอย่างยั่งยืน
หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า